May 9, 2024, 5:57 p.m.
“เรียนไปไร้ค่า ตายh’า ลืมหมด”
นี่เป็นคำพูดที่ผมจำไม่ลืม คำพูดนี้คุณลุงของผมซึ่งเป็นคนที่มีฐานะพูดให้ผมฟัง ในระหว่างการรวมญาติรับประทานอาหาร ที่ภัตตาการ ไต๋ฮี่ เมื่อเสร็จจากเช็งเม้ง เคารพศพเหล่ากงเหล่าม่า ที่จังหวัดชลบุรี
บทสนทนานี้เกิดขึ้น ตอนผม อยู่ ม.1 เพิ่งจะเข้าวัยรุ่นได้ไม่ถึงปี ผมถือว่าเป็น ‘หลาน’ ในเจนเนอร์เรชั่น 3 ที่เรียนได้ดี ถ้าเปรียบเทียบกับหลานๆ คนอื่นๆ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับลูกๆของลุง ลุงผมคงจะเป็นสไตล์ ฮากูน่า มาทาท่า ตามฉบับ Lion King ปล่อยลูกๆเขาตามสบาย แต่กลับกัน พ่อแม่ผมให้ความสำคัญกับเรื่องการเรียน แม่ไม่เท่าไหร่ แต่พ่อจะคอยถามตลอดว่าเกรดเป็นอย่างไร เหมือนว่าถ้าพ่อไม่รู้ว่าจะคุยอะไรกับพวกเรา คำหนึ่งที่จะออกจากปากพ่อเสมอคือ “ไปอ่านหนังสือ”
“เรียนไปทำไม ดูอย่างลุงสิ ไม่ได้สนใจเรียน เรื่องที่เรียนก็ไม่เห็นเคยได้ใช้ ปีทาโกรัส ไม่เคยใช้ ตรีโกณมิติ ไม่เคยใช้ สูตรเรขาคณิต ไม่เคยใช้”
คำพูดของลุง ทำให้ผมสับสนระดับหนึ่ง สงสัยว่าสิ่งที่ตัวเองเรียนไปมันมีค่าใช่ไหม ถ้ามองตอนนั้น เมื่อ 25 ปีก่อน ทั้งลุงและลูกๆของลุงดูเหมือนว่าจะมีอะไรหรูๆใช้อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นรถที่โก้กว่าใหม่กว่า ลูกพี่ลูกน้องผมที่ใส่เสื้อผ้าแฟชั่น Armani Giordano หรือรองเท้าหนัง Next ที่ดำเงา เท่าที่ผมจำได้เสื้อที่ผมใส่ ส่วนมากเป็นเสื้อยืดฟรี (ตอนนี้ก็ยังใส่เสื้อยืดฟรีอยู่…ฮา) ถ้าใส่ไปเดินห้างหน่อยจะใส่ยี่ห้อ Body Glove รองเท้าผ้าใบธรรมดา…ผมใช้เวลานานในการคิดถึงคำพูดของคุณลุง ว่ามันใช่ไหมหนอ “เรียนไปไร้ค่า ตายh’าลืมหมด”
คำถามนี้ ผมใช้เวลาตอบเกือบ 15 ปี จนวันที่ผมจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Stanford แล้วได้เริ่มต้นทำงานตอบแทนทุนรัฐบาลที่ส่งเสียผมเรียน ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมจึงได้คำตอบ ว่าจริงๆแล้ว ไม่ใช่ สิ่งที่ลุงพูด ไม่ถูก ผมอยากจะเขียนบทความนี้แชร์ว่า หลายๆคนมีความคิดว่า เรียนไปทำไม ยังไงก็ไม่ได้ใช้ในชีวิตจริงอยู่แล้ว คนที่เรียนไม่เก่ง หรือไม่ได้เรียนอย่างคุณตัน ยังประสบความสำเร็จได้ คำพูดเหล่านี้มันมีจุดบอด สิ่งที่คนมองข้ามตรงไหน เผื่อว่าจะได้เป็นแง่คิดใหม่ ปรับให้กับลูกๆหลานๆของท่าน หรือว่าถ้าน้องๆคนไหนที่ได้มาเจอบทความนี้ ก็จะขอเป็นกำลังใจให้ในการเรียนพากเพียรต่อไปครับ
ถ่ายรูปกับอดีตนายกรัฐมนตรี พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร และเพื่อนนักเรียนทุนรัฐบาลไทย ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา ในระดับปริญญาตรี-โท-เอก
จบการศึกษา รับปริญญา 2 ใบ ในระดับปริญญาตรี และปริญญาโท จาก Stanford University มหาวิทยาลัย Top Five ของโลก ซึ่ง เป็นศูนย์กลาง หัวใจของ Silicon Valley บริเวณที่ สร้างบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก เช่น Hewlett Packard, Google, Facebook, Tesla, eBay, Airbnb
หลังจากที่ได้เรียนและจบการศึกษาด้าน Computer Science (วิทยาการคอมพิวเตอร์) จาก Stanford ผมมีโอกาสเข้ามามากมาย ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอให้เข้าทำงานกับบริษัท Microsoft, Apple, Google, Facebook, หรือหลายๆ Startups ใน San Francisco แต่เนื่องด้วยคำสัญญาที่ให้ไว้กับรัฐบาลไทย ว่าต้องกลับมารับใช้ประเทศ เอาความรู้ที่ได้เรียน กลับไปสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทย สัญญาก็ต้องเป็นสัญญาครับ ปิดประตูการทำงานที่อเมริกา บินกลับมาเริ่มต้นชีวิตการทำงานที่ประเทศไทย หลังจากที่จากไปเกือบ 6 ปี
ทำงานที่จุฬาลงกรณ์ ในตำแหน่งอาจารย์ คำว่าอาจารย์ หลายๆคนคงจะคิดถึงว่า คือผู้สอนหน้าชั้นเรียน แต่จริงๆแล้ว นอกเหนือจากสวมหมวกผู้สอน ยังมีบทบาทอีกมาก (สอนหน้าชั้นใช้เวลาจริงๆเพียง 30% เท่านั้นครับ) บทบาทอื่นๆ ดังเช่นหมวกนักเขียน หมวกนักวิจัย หมวกผู้บริหารหลักสูตร ผู้บริหารหน่วยงานต่างๆ หมวกอาจารย์ที่ปรึกษา วิทยากรและที่ปรึกษาในหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน หรือว่าภาครัฐ ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ ตอนนี้ทำงานเข้าปีที่ 13 แล้ว ยังมีงานใหม่ๆมาให้ทำเรื่อยๆ ไม่เบื่อเลย
แล้วจริงหรือปล่าว ‘เรียนไปไร้ค่า ตายh’าลืมหมด’ …จะว่าไปแล้ว บางเรื่องก็ไม่ได้ใช้จริงๆ แคลคูลัส ตรีโกณมิติ ฟิสิกส์ F=ma เคมี การคำนวณโมล ชีววิทยา ไฟลัมป์ แต่บางเรื่องก็ต้องใช้ทุกๆวัน เช่นภาษาอังกฤษ บางเรื่องยังเสียใจไม่ได้เรียนไว้แต่เนิ่นๆ เช่นภาษาจีน 汉语 จนไม่นานมานี้เอง ผมได้ข้อสรุปว่า ไม่ใช่ เรียนไปไม่ได้ไร้ค่า วันนี้โตพอที่จะวิเคราะห์เองได้ ต่างจากตอนอายุ 13 ขวบ ผมยิ้ม และบอกกับตัวเองว่า ผมไม่เห็นด้วยกับความคิดและคำพูดของลุงผมเลย
คุณครูมิเชล ขณะสอนภาษาจีนพื้นฐานให้น้องจากสาธิตรามคำแหง อายุ 6 ขวบครึ่ง ในหมู่บ้านพฤกษาวิวล์ พัฒนาการ ใช้เวลาว่างจากการเล่นสนามในหมู่บ้าน 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ปูพื้นฐานภาษาจีน
ใช่ บางเรื่องที่เราเรียนในตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นระดับมัธยมต้น หรือมัธยมปลาย เราอาจจะไม่ได้ใช้ในอนาคต แต่ประเด็นการเรียนสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ว่าเราจะได้ใช้มันในอนาคตหรือปล่าว แต่สิ่งที่เป็นประเด็นคือ…โอกาสในการศึกษาต่อ โอกาสในอนาคตของแต่ละคน เด็กที่เรียนแผนวิทย์ ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้ใช้ฟิสิกส์ ตอนเขาอายุ 30 ปี แต่ตอนที่เขาเรียนแผนวิทย์ เขาได้เพิ่มโอกาสในการเรียนต่อในระดับมหาลัยของเขากว่าเด็กที่เรียนแผนศิลป์ หรือไม่ได้เรียนเลยหลายเท่าตัว
เด็กที่เรียนแผนวิทย์ มีโอกาสที่จะเอนทรานซ์ ศึกษาต่อในสาขาวิชา แพทย์ สาธารณสุข วิศวะ วิทยาศาสตร์ สถาปัตย์ คอมพิวเตอร์ ซึ่งเด็กแผนศิลป์ถูกปิดโอกาสนั้นเลยตั้งแต่พวกเขาเลือกแผนศิลป์ ตั้งแต่ อายุ 15 ปี โอกาสของเด็กแผนวิทย์จะมากกว่าเด็กแผนศิลป์คำนวณ และโอกาสของเด็กแผนศิลป์คำนวณก็จะมากกว่าโอกาสของเด็กแผนศิลป์ภาษาตามลำดับ เพราะถ้าเด็กแผนวิทย์ตัดสินใจอยากจะเรียนเกี่ยวกับด้านบริหารธุรกิจ ดังเช่นคณะที่ผมสอนอยู่ ช่วงโค้งสุดท้าย เขาก็ยังสามารถเตรียมตัว สมัครสอบเข้าแข่งขันได้ แต่สำหรับเด็กแผนศิลป์คำนวณ หรือศิลป์-ภาษา ถ้าอยากจะเรียนหมอ หรือวิศวะ เขาแทบไม่มีโอกาสเลย นอกจากหาทางกวดวิชา เรียนเนื้อหาแผนวิทย์ต่างๆที่เพื่อนในรุ่นเดียวกัน ได้เรียนมาก่อนแล้ว 3 ปี1
ผมมีวันนี้ได้ เพราะผมตั้งใจเรียน จริงๆแล้วผมไม่ใช่เด็กที่เรียนเก่ง (การตั้งใจเรียนกับการเรียนเก่ง เป็นคนละเรื่องกัน) การตั้งใจเรียนเปิดโอกาสให้ผมมากมาย โอกาสไปสอบชิงทุน โอกาสที่จะได้เรียนต่อต่างประเทศตั้งแต่ระดับปริญญาตรี โอกาสที่ได้เจอเพื่อนเก่งๆ ผู้คนเก่งๆจากทั่วโลกในรั้วมหาวิทยาลัย Stanford เปิดโลกทัศน์เล็กๆของผม ซึ่งอยู่ในกรุงเทพมาตลอด 18 ปี ได้พูดคุย เรียนรู้จากเพื่อนที่มาจากหลายเชื้อชาติ หลากวัฒนธรรม โลกใบนี้ช่างกว้างใหญ่เหลือเกิน ทำให้รู้ว่าประเทศไทย โลกที่ผมรู้จักเล็กนิดเดียวเอง
ผมและเพื่อนสมัยมหาวิทยาลัย James Michel ซึ่งตอนนี้เป็นผู้บริหารระดับสูงที่บริษัท Facebook Inc.
เรื่องการทำงาน ผมมีวันนี้ได้ก็เพราะตั้งใจเรียน มันสร้างและเปิดโอกาสให้ผมมาก ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการได้มาเป็นอาจารย์ที่บัญชี จุฬา พออยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ยิ่งเป็นประตูบานใหญ่เปิดให้รู้จักใครหลายๆคนที่น่าสนใจ ทั้งศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จ อย่างพี่เฉลิมพล ปุณโณทก ผู้ก่อตั้งบริษัทหุ่นยนต์ดินสอ บริษัทหุ่นยนต์แรกของไทย ที่สามารถส่งออกไปขายต่างประเทศทั้งในยุโรป หรือญี่ปุ่นได้ อาจารย์รุ่นพี่ ที่มีความรู้ความสามารถ ดังเช่นท่านคณบดีในปัจจุบัน รศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ที่คอยแนะนำ เปิดมุมมองให้ผมในหลายๆด้าน โอกาสได้พบปะ พูดคุย เป็นที่ปรึกษาให้บริษัท และหน่วยงานรัฐที่ได้เข้ามาร่วมงานกับทางคณะและหลักสูตร CUTIP ที่ผมดูแลอยู่ เช่น ปตท ปูนซีเมนต์ไทย ธนาคารกสิกร กรุงเทพประกันภัย โรงพยาบาลกรุงเทพ ฯลฯ โอกาสได้รู้จักกับผู้ประกอบการท้องถิ่นจากการไปบรรยายที่ เชียงใหม่ พิษณุโลก สุโขทัย ขอนแก่น สกลนคร หรือ โอกาสที่ได้สร้างความสัมพันธ์กับอาจารย์และผู้ประกอบการในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลย์เซีย เยอรมัน สวิซเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา
สุดท้ายอยากจะบอกทุกๆคนอีกครั้งนะครับ ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองที่กำลังเลี้ยงลูกๆ และไม่รู้ว่าจะตอบลูกว่าอย่างไร เวลาเขาถาม ‘เรียนพวกนี้ไปทำไม ได้ใช้เมื่อไหร่’ หรือน้องๆที่กำลังเรียนรู้ และสงสัยว่าเราเรียนหนังสือไปทำไม เราเรียนเพื่อเปิดโอกาสให้อนาคตของเราให้มากที่สุดครับ
จากคำพูดว่า เรียนไปไร้ค่า ตายh’าลืมหมด ผมขอเปลี่ยนเป็น
"เรียนไปมีค่า คุ้มเวลาสุดๆ"
Happy Learning & Studying ครับ ทุกๆคน
1 บทความนี้ที่ผมเขียนขึ้น ใช่ว่าผมเห็นด้วยกับ ‘ระบบ’ การศึกษาที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน ที่ตัดโอกาสเด็กๆตั้งแต่ตอนที่เขาเลือกแผนตอน ม.4 หรือ ไม่ได้มองข้ามอาชีพทางเลือกใหม่ๆ ที่ ยังไม่มีในรั้วของโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย อาชีพเฉพาะด้าน ซึ่งก็น่าตื่นเต้น ดังเช่น Youtuber / Podcaster / E-Sport Players
ปล สำหรับคนที่ไขว่ขว้า รู้ว่าเลือกทางที่ตัดโอกาสตัวเองในอดีต ที่จริงก็มีโอกาสในการเรียนรู้เพิ่มโอกาสอยู่ ในยุคของโลกดิจิตัล คุณเรียนรู้เพิ่มเติมได้ตลอดเวลาในสาขาอาชีพใหม่ๆ สำหรับ course online ที่ผมเคยซื้อและได้เรียน ผมขอแนะนำ Coursera, Udemy, และ Team Tree House นะครับ
Updated (21/04/2021)
หลังจากที่ผมได้เขียนและเผยแพร่บทความนี้ไป มีเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ เขียนเสนอเพิ่มเติมในมุมมองของเขาว่า พวกเขาเรียนไปเพื่ออะไร ผมอ่านแล้วเลยขอหยิบยืมไอเดียดีๆเหล่านั้น มาเผยแพร่ไว้ ณ ตรงนี้ด้วยครับ